
อาการปวดบริเวณข้อศอก
เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งในผู้สูงวัยประมาณ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งพบได้ทั้งเพศชาย – เพศหญิง
โดยเชื่อว่าอาการปวดนี้เกิดจากมีการอักเสบของที่ยึดเกาะของเอ็นและกล้ามเนื้อที่มาเกาะที่ปุ่มกระดูกบริเวณข้อศอกด้านนอก
สาเหตุ
ส่วนใหญ่การอักเสบเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำงานซ้ำๆ มากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บสะสม โดยเฉพาะตรงจุดที่เอ็นกล้ามเนื้อเกาะกับกระดูก ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บที่ตำแหน่งดังกล่าว
การวินิจฉัย
จะเกิดการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกโดยอาการปวดมักจะเป็นมานานและจะมีอาการมาก เวลาออกแรงต้านการกระดกข้อมือขึ้นเวลาข้อศอกเหยียดตรง หรือจะปวดเวลาหยิบจับยกของ บิดแขนหรือกำมือแน่น บางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่แขนและมือได้ ซึ่งการปวดข้อศอกอาจจะเกิดจากเส้นประสาทกดทับร่วมด้วยได้เช่นกัน
การรักษา
ในการรักษาการอักเสบของเอ็นบริเวณข้อศอกมากกว่า 90 % ของผู้ป่วยสามารถรักษาหายได้โดยวิธีการไม่ต้องผ่าตัด
การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด
1. การพักการใช้งาน เมื่อมีอาการปวดอักเสบร่วมกับการปรับกิจกรรมการใช้งานของแขนและมือ
2. การใช้น้ำแข็งมาประคบ เพื่อลดการปวดอักเสบ
3. การรับประทานยาลดอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ ตามคำแนะนำของแพทย์
4. การทำกายภาพบำบัด เช่นการวางแผ่นร้อน การทำอัลตร้าซาวน์ และบริหารกล้ามเนื้อ
5. การให้อุปกรณ์รัดต้นแขนเพื่อลดแรงกระชากของกล้าเนื้อ
6. การฉีดยาเสตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบซึ่งไม่ควรจะทำบ่อย เพราะว่ามีโอกาสทำให้เส้นเอ็นขาดได้
การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
ใช้ในรายที่ทำมานานๆ และการรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน ซึ่งผลการรักษาโดยวิธี ผ่าตัดจะส่งผลให้การรักษาดีขึ้นในระยะเวลา 8-12 เดือน
วิธีการกายบริหารเอ็นข้อศอกอักเสบ
ควรทำเมื่อไม่มีอาการปวดอักเสบเกิดขึ้น โดยหวังเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในการออกกำลังกายอาจจะค่อยๆทำให้อาการดีขึ้นได้บ้างแต่ต้องใช้ระยะเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะเร่งรีบ หรือโหมออกกำลังจนเกินไปเพราะอาจทำให้มีอาการบาดเจ็บเกิดซ้ำขึ้นอีกได้
ในการออกกำลังกายในการยืดกล้ามเนื้ออาจจะทำค้างไว้ครั้งละ10-20วินาที ทีละ10-20ครั้ง อาจจะเช้าเย็นก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มปริมาณและเวลาในการออกำลังกายให้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น