วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

ข้อเข่าเสื่อม

ภาวะการเสื่อมสภาพของข้อเข่า มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาจทำให้มีการผิดรูปของข้อเข่า ปวดในข้อเข่า ข้อเข่าติดขัดเหยียดงอได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะพบได้ว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีด้วยกันหลายปัจจัยดังเช่น

  1. อายุที่มากขึ้น
  2. น้ำหนักมาก
  3. การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักเป็นเวลานาน
  4. มีการบาดเจ็บหรือแตกหักของข้อเข่ามาก่อน
  5. เคยมีการอักเสบติดเชื้อในเข่า หรือมีภาวะข้ออักเสบ

อาการและอาการแสดงของโรค

  1. มีอาการปวดขณะใช้งาน
  2. ข้อเข่าติดขัด เหยียดงอเข่าได้ไม่เต็มที่
  3. เสียงดังในข้อเข่า (crepitus)
  4. ข้อเข่าผิดรูป
  5. ท่าทางการเดินที่ผิดปกติ

แนวทางการดูแลรักษา

  1. การลดน้ำหนัก
  2. การลดกิจกรรมที่ทำให้เข่ารับน้ำหนักมากหรือเกิดการเสื่อมเร็วเกินไป เช่นการนั่งยอง การนั่งขัดสมาธิ การเดินขึ้นลงบันได
  3. การบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
  4. การใช้สนับเข่าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง แต่ถ้าใช้เป็นเวลานานจะพบว่ากล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลีบเล็กได้ จึงควรทำการบริหารข้อเข่าร่วมด้วยเสมอ
  5. การใช้ไม้เท้าแบ่งเบาภาระต่อข้อเข่า เพิ่มความมั่นคงในการยืนหรือเดิน
  6. การทำกายภาพบำบัดอาทิเช่นการประคบร้อน การกระตุ้นไฟฟ้า
  7. การรักษาโดยการกินยา การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า
  8. การผ่าตัดข้อเข่า

การออกกำลังกายกับโรคข้อเข่าเสื่อม

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อข้อเข่าแข็งแรง ลดแรงกระแทกภายในข้อเข่า กระตุ้นการเสริมสร้างกระดูก และช่วยชะลอความเสื่อมของข้อเข่า และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และหาหนทางชะลอความเสื่อมของข้อเข่าให้ช้าที่สุด

ข้อแนะนำก่อนบริหารข้อเข่า
ควรเริ่มทำภายหลังจากอาการปวดเริ่มทุเลาลงแล้ว ซึ่งอาจจะบรรเทาอาการปวดโดย

  1. ประคบด้วยความร้อน หรือ ความเย็น ประมาณ 10 - 15 นาที หรือ ประคบด้วยความร้อน 4 นาที สลับกับ ความเย็น 1 นาที ก็ได้ อาจใช้ครีมนวดแก้ปวดร่วมด้วย แต่ต้องระวังอย่านวดแรงเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อฟกช้ำมากขึ้น
    - รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ
    - เลือกวิธีบริหารข้อเข่าที่เหมาะสม ในขณะที่ยังมีอาการปวดเข่าอยู่ ก็ควรบริหารข้อเข่าในท่าที่ ไม่ทำให้ปวดมากขึ้น เพื่อป้องกันเข่าติดและกล้ามเนื้อลีบ
  2. ขณะบริหาร ถ้าปวดมากขึ้น ให้ลดจำนวนครั้งลง หรือ หยุดพักการบริหารท่านั้นไว้ก่อน จนกว่าอาการปวดจะดีขึ้นแล้วค่อยเริ่มทำท่านั้นใหม่ เช่น ถ้าเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ แล้วนับ 1-10 แล้วปวด ก็ลดลงนับแค่ 1-5 เป็นต้น
  3. ควรบริหารอย่างสม่ำเสมอทุกวัน และมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยวันละ 2 - 3 รอบ
  4. ขณะบริหารอย่ากลั้นหายใจ เพราะถ้ากลั้นหายใจ กล้ามเนื้อจะขาดออกซิเจน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าและปวดได้ การกลั้นหายใจขณะบริหาร มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สามารถป้องกันได้โดยออกเสียงนับดังขณะบริหาร
  5. ควรออกกำลังเข่าทั้งสองข้างสลับกันเสมอ เนื่องจากข้อเข่าเสื่อมมักจะมีอาการทั้งสองข้าง โดยที่ข้างใดข้างหนึ่งอาจจะมีอาการมากกว่าอีกข้าง ในผู้ที่ปวดเข่าข้างเดียว ข้อเข่าข้างที่ไม่ปวดต้องทำงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ที่ปวดเข่าข้างเดียวก็ต้องออกกำลังมากขึ้นในข้างที่ไม่ปวดด้วย

ท่าบริหารข้อเข่า

ท่าที่ 1 นอนหงาย เหยียดเข่าตรงบนเตียงใช้หมอนหนุนใต้เข่า กดเข่าลงพร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น เกร็งค้างไว้นับ 1-3 ช้าๆ แล้วปล่อย สลับข้าง ทำซ้ำให้ได้ข้างละ 10 ครั้ง

ท่าที่ 2 นอนหงายราบกับพื้น (เอาหมอนออก) เหยียดเข่าตรง กระดกข้อเท้าขึ้น ยกขาขึ้นมาพ้นพื้นตรงๆ ทีละข้าง เกร็งค้างไว้นับช้าๆ 1 - 10 พัก ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง

ท่าที่ 3 นั่งห้อยขาข้างเตียง หรือห้อยขาที่เก้าอี้เหยียดเข่าตรงขึ้นมาเกร็งค้างไว้นับ 1-10 ทำสลับกันทีละข้าง ทำซ้ำให้ได้ข้างละ 12 - 24 ครั้ง หรือจนรู้สึกเมื่อย

ท่าที่ 4 ยืนตรงยกขาขึ้นให้สูงจากพื้น ประมาณ 30 เซนติเมตร โดยเข่าเหยียดตรง เกร็งค้างไว้นับช้าๆ 1 - 10 พัก ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง
ถ้าไม่มีอาการปวด ให้ใช้น้ำหนักถ่วงที่บริเวณข้อเท้า โดยเริ่มจากน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม แล้วค่อยๆเพิ่มน้ำหนักขึ้นครั้งละ 0.5 กิโลกรัม จนถึง 5 กิโลกรัม แต่ถ้าเพิ่มน้ำหนักแล้วรู้สึกปวด ก็ให้ลดน้ำหนักลงเหลือเท่าที่ไม่ปวดแล้วทำต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น