วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552

tennis elbow(เอ็นข้อศอกอักเสบ)


อาการปวดบริเวณข้อศอก
เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งในผู้สูงวัยประมาณ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งพบได้ทั้งเพศชาย – เพศหญิง
โดยเชื่อว่าอาการปวดนี้เกิดจากมีการอักเสบของที่ยึดเกาะของเอ็นและกล้ามเนื้อที่มาเกาะที่ปุ่มกระดูกบริเวณข้อศอกด้านนอก
สาเหตุ
ส่วนใหญ่การอักเสบเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำงานซ้ำๆ มากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บสะสม โดยเฉพาะตรงจุดที่เอ็นกล้ามเนื้อเกาะกับกระดูก ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บที่ตำแหน่งดังกล่าว
การวินิจฉัย
จะเกิดการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกโดยอาการปวดมักจะเป็นมานานและจะมีอาการมาก เวลาออกแรงต้านการกระดกข้อมือขึ้นเวลาข้อศอกเหยียดตรง หรือจะปวดเวลาหยิบจับยกของ บิดแขนหรือกำมือแน่น บางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปที่แขนและมือได้ ซึ่งการปวดข้อศอกอาจจะเกิดจากเส้นประสาทกดทับร่วมด้วยได้เช่นกัน
การรักษา
ในการรักษาการอักเสบของเอ็นบริเวณข้อศอกมากกว่า 90 % ของผู้ป่วยสามารถรักษาหายได้โดยวิธีการไม่ต้องผ่าตัด

การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด
1. การพักการใช้งาน เมื่อมีอาการปวดอักเสบร่วมกับการปรับกิจกรรมการใช้งานของแขนและมือ
2. การใช้น้ำแข็งมาประคบ เพื่อลดการปวดอักเสบ
3. การรับประทานยาลดอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ ตามคำแนะนำของแพทย์
4. การทำกายภาพบำบัด เช่นการวางแผ่นร้อน การทำอัลตร้าซาวน์ และบริหารกล้ามเนื้อ
5. การให้อุปกรณ์รัดต้นแขนเพื่อลดแรงกระชากของกล้าเนื้อ
6. การฉีดยาเสตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบซึ่งไม่ควรจะทำบ่อย เพราะว่ามีโอกาสทำให้เส้นเอ็นขาดได้

การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
ใช้ในรายที่ทำมานานๆ และการรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน ซึ่งผลการรักษาโดยวิธี ผ่าตัดจะส่งผลให้การรักษาดีขึ้นในระยะเวลา 8-12 เดือน

วิธีการกายบริหารเอ็นข้อศอกอักเสบ
ควรทำเมื่อไม่มีอาการปวดอักเสบเกิดขึ้น โดยหวังเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในการออกกำลังกายอาจจะค่อยๆทำให้อาการดีขึ้นได้บ้างแต่ต้องใช้ระยะเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะเร่งรีบ หรือโหมออกกำลังจนเกินไปเพราะอาจทำให้มีอาการบาดเจ็บเกิดซ้ำขึ้นอีกได้
ในการออกกำลังกายในการยืดกล้ามเนื้ออาจจะทำค้างไว้ครั้งละ10-20วินาที ทีละ10-20ครั้ง อาจจะเช้าเย็นก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มปริมาณและเวลาในการออกำลังกายให้มากขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552

เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ


อาการปวดส้นเท้า เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น
การอักเสบของเอ็นฝาเท้าถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยเช่นกัน สาเหตุโดยทั่วไปยังไม่ทราบได้อย่างชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าเกิดจากความเสื่อมสภาพ ร่วมกับการใช้งานที่มากเกินไป
อาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบนี้มักจะพบได้บ่อยในช่วงอายุประมาณ 40-70 ปี ผู้ชาย วัยทำงาน ร่วมกับมีน้ำหนักตัวมาก ยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดโรคได้มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
- อ้วน
- ทำงานที่ต้องยืนหรือเดินบนพื้นแข็งๆนานๆ
- ออกกำลังกายโดยไม่ได้อบอุ่นร่างกาย
- การมีฝ่าเท้าแบนหรือผิดรูปจากปกติ
- การใช้รองเท้าที่ไม่ถูกลักษณะ


อาการและอาการแสดงของโรค
อาการโดยทั่วไปที่พบของการเกิดเอ็นฝ่าเท้าอักเสบคือ อาการปวดบริเวณส้นเท้าในช่วงเวลาตื่นตอนเช้าหรือเวลานั่งพักนานๆ แล้วก้าวเดิน อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหลังจากได้เดินออกกำลังไปได้สักพัก หรือการหลีกเลี่ยงการเดินลงน้ำหนัก
ในการตรวจร่างกาย อาจจะสังเกตเห็นเรื่องของการบวมแดงของข้างที่มีอาการจะมีมากกว่าข้างปกติได้ การกระดกข้อเท้าขึ้นหรือกดส้นเท้าจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อข้อเท้า ข้อเข่าหรือหลังได้จากการเดินที่ผิดปกติ

การถ่ายภาพรังสีอาจเห็นกระดูกงอกได้ในบางคนแต่อาจไม่สัมพันธ์กับอาการปวดจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทุกคน
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะค่อยๆ ดีขึ้น ด้วยการรักษาด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่อาจจะต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน แต่ถ้าอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งจะต้องใช้เวลารักษาหลังผ่าตัดอีก 2 - 6 เดือนเป็นอย่างน้อย อาการจึงจะดีขึ้น
สำหรับผู้ที่มีอาการนานกว่า1ปี มีน้ำหนักมาก การรักษามักจะได้ผลไม่ค่อยดี ต้องใช้เวลานาน
แนวทางการรักษาด้วยตนเอง
1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวดและควรออกกำลังที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้ามากนัก
2. บริหารยืดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นฝ่าเท้า
3. นวดฝ่าเท้าหรือใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้า
4. ใส่รองเท้าที่เหมาะสมขนาดพอดีไม่หลวมเกินไป มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้า
5. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า
6. ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น เช่นใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ประคบบริเวณที่ปวดประมาณ 10 - 15 นาที หรือ ประคบด้วยความร้อน 4 นาที สลับกับความเย็น 1 นาที ก็ได้
7. ถ้าปวดมากรับประทานยาแก้ปวดประคบร้อน หรือใช้ยานวด
8. ลดน้ำหนัก
แนวทางการรักษาโดยแพทย์
- รับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ
- ฉีดยาสเตียรอยด์ บริเวณจุดที่
- ทำกายภาพบำบัด 2 - 3 ครั้งต่ออาทิตย์ อย่างน้อย 6 อาทิตย์
- ใส่เฝือกชั่วคราวในตอนกลางคืน หรือ ถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน
- ผ่าตัดทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้ว อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรับการรักษาอย่างเต็มที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 - 9 เดือน หรือ เกิดจากเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าถูกกดทับ
วิธีบริหาร
- เมื่อตื่นนอนให้นวดหรือประคบฝ่าเท้าและน่องด้วยความร้อน ก่อนเริ่มบริหาร
การบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อ
- ใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าแล้วใช้มือดึงให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง

- ยืนห่างจากผนังสัก 3-4 ฟุต มือยันผนังแล้วเอนตัวไปให้ชิดกับผนัง ค้างไว้ นับ 1-10 ทำซ้ำ 10 ครั้ง

- ยืนหรือ นั่ง แล้วใช้อุ้งเท้าเหยียบ วัสดุกลม ๆ
การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ
- เกร็งกล้ามเนื้อ กระดกข้อเท้าขึ้นมากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- เกร็งกล้ามเนื้อ งอข้อเท้าลงมากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552

มือชาจากพังผืดกดรัด



อาการชาของมือเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมของกระดูกต้นคอ ชาจากการเสื่อมของเส้นประสาทเองจากโรคประจำตัวต่างๆเช่น เบาหวาน
หรือเกิดจากการกดรัดเส้นประสาทบริเวณข้อมือจากการหนาตัวปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือ
การกดรัดเส้นประสาทบริเวณข้อมือจากการหนาตัวปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมือ(Carpal tunnel syndrome; CTS) ถือเป็นสาเหตุที่พบบ่อยสาเหตุหนึ่ง มักจะพบบ่อยในช่วงวัยกลางคน(30-60ปี) ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดได้มากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3เท่า
สาเหตุของอาการชา 1. มีความผิดปกติของตัวเส้นประสาท เช่น เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง 2. มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในอุโมงค์ข้อมือ เช่น ก้อนไขมัน ถุงน้ำ ก้อนเนื้องอก 3. การอักเสบของเยื่อบุข้อ เยื่อหุ้มเอ็นจากโรค เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ 4. การบวมของเอ็นที่อยู่ภายในอุโมงค์จากการตั้งครรภ์ ภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง 5. เกิดการหนาตัวของเยื่อพังผืดข้อมือ

อาการและอาการแสดงของโรค
อาการที่พบทั่วไป คือชามือข้างนั้นตามตำแหน่งที่เส้นประสาทไปเลี้ยง บางรายจะมีอาการปวดร้าวไปที่มือต้นแขนหรือไหล่ร่วมด้วย โดยทั่วไปจะมีอาการชาปลายนิ้วมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง บางคนจะมีอาการชาของนิ้วนางบางส่วนร่วมด้วย อาการชาจะเป็นๆหายๆ โดยจะมีอาการมากในเวลากลางคืน บางคนอาจต้องตื่นขึ้นมาสะบัดมือเพื่อให้อาการชามือดีขึ้น
นอกจากนี้จะมีอาการมากขึ้นในขณะทำงานที่ต้องใช้มือและข้อมือ และเมื่อมีการดำเนินของโรคต่อไปโดยไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการชาจะมีมากขึ้นถี่ขึ้น จนมีอาการตลอดเวลาและเริ่มมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ มือ
มีการลีบเล็กลง



การรักษา
ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค แนวทางการรักษามีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาแบบประคับประคอง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มากนัก โดย 1. โดยการใส่อุปกรณ์พยุงข้อมืออยู่ในท่าทางที่เหมาะสม กระดกข้อมือขึ้นทางหลังมือเล็กน้อย 2. ปรับลักษณะการใช้งานของข้อมือให้เหมาะสม . หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อมือมากเกินไป รวมทั้งการรับแรงกระแทก, การสั่นสะเทือน บริเวณข้อมือ4. รับประทานยาลดการอักเสบ ลดการบวมของเอ็นหรือเยื่อบุเอ็น 5. รับประทานยาวิตามินบี 6 6. การฉีดสเตียรอยด์ ในกรณีทานยาแล้วไม่ดีขึ้น และเป็นมาน้อยกว่า 1 ปี ได้ผลดีประมาณ 80% แต่มักจะไม่หายขาดการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาที่หายขาด ด้วยการผ่าตัดขยายอุโมงค์ โดยตัดเยื่อพังผืด แก้ต้นเหตุ
ข้อแนะนำ - ถ้ามีอาการชาปลายนิ้ว ลองขยับข้อมือ นิ้วมือเบา ๆ ถ้ามีอาการดีขึ้นหายชาได้ - หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้มือและข้อมือมากโดยเฉพาะในท่าที่งอข้อมือมาก ๆ หรือการกระดกข้อมือมาก ๆ - การที่ใช้ข้อมือมากเกินไป การปวดชากลางคืน การเอาข้อมือวางบนหมอนอาจจะลดอาการปวดเนื่องจากเป็นท่าที่เส้นประสาทถูกกดทับน้อยลง -การบริหารมือและข้อมือเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และเป็นการป้องกันอาการเจ็บปวดที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ท่าบริหาร

วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

ข้อเข่าเสื่อม

ภาวะการเสื่อมสภาพของข้อเข่า มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาจทำให้มีการผิดรูปของข้อเข่า ปวดในข้อเข่า ข้อเข่าติดขัดเหยียดงอได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะพบได้ว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีด้วยกันหลายปัจจัยดังเช่น

  1. อายุที่มากขึ้น
  2. น้ำหนักมาก
  3. การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักเป็นเวลานาน
  4. มีการบาดเจ็บหรือแตกหักของข้อเข่ามาก่อน
  5. เคยมีการอักเสบติดเชื้อในเข่า หรือมีภาวะข้ออักเสบ

อาการและอาการแสดงของโรค

  1. มีอาการปวดขณะใช้งาน
  2. ข้อเข่าติดขัด เหยียดงอเข่าได้ไม่เต็มที่
  3. เสียงดังในข้อเข่า (crepitus)
  4. ข้อเข่าผิดรูป
  5. ท่าทางการเดินที่ผิดปกติ

แนวทางการดูแลรักษา

  1. การลดน้ำหนัก
  2. การลดกิจกรรมที่ทำให้เข่ารับน้ำหนักมากหรือเกิดการเสื่อมเร็วเกินไป เช่นการนั่งยอง การนั่งขัดสมาธิ การเดินขึ้นลงบันได
  3. การบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
  4. การใช้สนับเข่าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง แต่ถ้าใช้เป็นเวลานานจะพบว่ากล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลีบเล็กได้ จึงควรทำการบริหารข้อเข่าร่วมด้วยเสมอ
  5. การใช้ไม้เท้าแบ่งเบาภาระต่อข้อเข่า เพิ่มความมั่นคงในการยืนหรือเดิน
  6. การทำกายภาพบำบัดอาทิเช่นการประคบร้อน การกระตุ้นไฟฟ้า
  7. การรักษาโดยการกินยา การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า
  8. การผ่าตัดข้อเข่า

การออกกำลังกายกับโรคข้อเข่าเสื่อม

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อข้อเข่าแข็งแรง ลดแรงกระแทกภายในข้อเข่า กระตุ้นการเสริมสร้างกระดูก และช่วยชะลอความเสื่อมของข้อเข่า และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และหาหนทางชะลอความเสื่อมของข้อเข่าให้ช้าที่สุด

ข้อแนะนำก่อนบริหารข้อเข่า
ควรเริ่มทำภายหลังจากอาการปวดเริ่มทุเลาลงแล้ว ซึ่งอาจจะบรรเทาอาการปวดโดย

  1. ประคบด้วยความร้อน หรือ ความเย็น ประมาณ 10 - 15 นาที หรือ ประคบด้วยความร้อน 4 นาที สลับกับ ความเย็น 1 นาที ก็ได้ อาจใช้ครีมนวดแก้ปวดร่วมด้วย แต่ต้องระวังอย่านวดแรงเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อฟกช้ำมากขึ้น
    - รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ
    - เลือกวิธีบริหารข้อเข่าที่เหมาะสม ในขณะที่ยังมีอาการปวดเข่าอยู่ ก็ควรบริหารข้อเข่าในท่าที่ ไม่ทำให้ปวดมากขึ้น เพื่อป้องกันเข่าติดและกล้ามเนื้อลีบ
  2. ขณะบริหาร ถ้าปวดมากขึ้น ให้ลดจำนวนครั้งลง หรือ หยุดพักการบริหารท่านั้นไว้ก่อน จนกว่าอาการปวดจะดีขึ้นแล้วค่อยเริ่มทำท่านั้นใหม่ เช่น ถ้าเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ แล้วนับ 1-10 แล้วปวด ก็ลดลงนับแค่ 1-5 เป็นต้น
  3. ควรบริหารอย่างสม่ำเสมอทุกวัน และมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยวันละ 2 - 3 รอบ
  4. ขณะบริหารอย่ากลั้นหายใจ เพราะถ้ากลั้นหายใจ กล้ามเนื้อจะขาดออกซิเจน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าและปวดได้ การกลั้นหายใจขณะบริหาร มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สามารถป้องกันได้โดยออกเสียงนับดังขณะบริหาร
  5. ควรออกกำลังเข่าทั้งสองข้างสลับกันเสมอ เนื่องจากข้อเข่าเสื่อมมักจะมีอาการทั้งสองข้าง โดยที่ข้างใดข้างหนึ่งอาจจะมีอาการมากกว่าอีกข้าง ในผู้ที่ปวดเข่าข้างเดียว ข้อเข่าข้างที่ไม่ปวดต้องทำงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ที่ปวดเข่าข้างเดียวก็ต้องออกกำลังมากขึ้นในข้างที่ไม่ปวดด้วย

ท่าบริหารข้อเข่า

ท่าที่ 1 นอนหงาย เหยียดเข่าตรงบนเตียงใช้หมอนหนุนใต้เข่า กดเข่าลงพร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น เกร็งค้างไว้นับ 1-3 ช้าๆ แล้วปล่อย สลับข้าง ทำซ้ำให้ได้ข้างละ 10 ครั้ง

ท่าที่ 2 นอนหงายราบกับพื้น (เอาหมอนออก) เหยียดเข่าตรง กระดกข้อเท้าขึ้น ยกขาขึ้นมาพ้นพื้นตรงๆ ทีละข้าง เกร็งค้างไว้นับช้าๆ 1 - 10 พัก ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง

ท่าที่ 3 นั่งห้อยขาข้างเตียง หรือห้อยขาที่เก้าอี้เหยียดเข่าตรงขึ้นมาเกร็งค้างไว้นับ 1-10 ทำสลับกันทีละข้าง ทำซ้ำให้ได้ข้างละ 12 - 24 ครั้ง หรือจนรู้สึกเมื่อย

ท่าที่ 4 ยืนตรงยกขาขึ้นให้สูงจากพื้น ประมาณ 30 เซนติเมตร โดยเข่าเหยียดตรง เกร็งค้างไว้นับช้าๆ 1 - 10 พัก ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง
ถ้าไม่มีอาการปวด ให้ใช้น้ำหนักถ่วงที่บริเวณข้อเท้า โดยเริ่มจากน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม แล้วค่อยๆเพิ่มน้ำหนักขึ้นครั้งละ 0.5 กิโลกรัม จนถึง 5 กิโลกรัม แต่ถ้าเพิ่มน้ำหนักแล้วรู้สึกปวด ก็ให้ลดน้ำหนักลงเหลือเท่าที่ไม่ปวดแล้วทำต่อไป


สวัสดีครับ



เวปบล็อกนี้สร้างไว้เพื่อที่จะได้ให้ข้อแนะนำ ความรู้ทางการแพทย์ และสาระต่างๆเท่าที่สามารถจะให้ได้


หวังว่าคงได้รับคำแนะนำดีๆต่างๆจากผู้ผ่านเข้ามาชมนะครับ


ขอบคุณครับ